คำศัพท์เกี่ยวกับนวัตกรรม

ปัจจุบันมีศัพท์แสงมากมาย เกี่ยวกับนวัตกรรม (Innovation) ที่ใช้กันทั่วไปในหนังสือ นิตยสารต่างๆ จนเรียกได้ว่าคนอ่านอาจจะสับสนได้ ว่าแต่ละคำมันต่างกันยังไง วันนี้ เลยจะมาพูดถึงเรื่องนี้ดีกว่าครับ
เริ่มที่ Innovation หรือคำว่านวัตกรรมนี่ล่ะครับ นวัตกรรมหมายถึงการทำสิ่งใหม่ๆ หรือวิธีใหม่ๆ ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ นวัตกรรม ต่างกับสิ่งประดิษฐ์ (Invention) ตรงที่มันต้องมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) นี่ละครับ
แต่ถามว่าใหม่ยังไง นิยามของคำว่าใหม่ก็แตกต่างกันออกไปครับ อาจจะใหม่แบบมีเป็นครั้งแรกในโลกเลย (New to the world) ใหม่ในตลาดในประเทศ (New to the market) หรือใหม่สำหรับบริษัท (New to the company) สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา ไอ้แบบแรก คือใหม่แบบครั้งแรกในโลก ไม่ค่อยมีหรอกครับ นวัตกรรมจึงมักหมายถึงใหม่ในตลาดในประเทศ หรือใหม่สำหรับบริษัทมากกว่า
ต่อไปเราลองไปดูศัพท์แสงต่างๆ ที่แตกรากแตกหน่อจากคำว่า นวัตกรรม (Innovation) กันเลยครับ
Product Innovation หมายถึง นวัตกรรมที่เป็นสินค้า อันนี้เข้าใจกันง่าย
Process Innovation หมายถึง นวัตกรรมในกระบวนการผลิต การค้นพบวิธีการผลิตใหม่ที่ทำให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากขึ้น เช่น ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง หรือ ระยะเวลาการผลิตลดลง
Service Innovation หมายถึง นวัตกรรมทางการบริการ ตัวอย่างก็ การที่ธนาคารมีการเปิดสาขาแบบ Micro Banking หรือการนำ One Stop Service มาใช้ ก็ถือเป็นนวัตกรรทางการบริการ ได้ครับ
Managerial Innovation หรือ Management Innovation หรือ Administrative Innovation หมายถึง นวัตกรรมในการบริหารจัดการ โดยมีการนำวิธีการบริหารจัดการใหม่ๆ เข้ามาใช้บริษัท ตัวอย่างเช่น การนำเอาระบบ Balanced Scorecard หรือ Total Quality Management เข้ามาใช้ในองค์กร ก็ถือเป็นนวัตกรรมการบริหารองค์กรประเภทหนึ่ง
Organizational Innovation คำนี้มีสองความหมายครับ อยู่ที่บริบทที่ใช้ บางครั้งก็มีความหมายเหมือน Managerial Innovation แต่บางครั้งก็หมายความรวมๆ ถึงนวัตกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมทางสินค้า บริการ หรือกระบวนการผลิต
Marketing Innovation หมายถึงนวัตกรรมการตลาด ตัวอย่างที่ชัดที่สุด ก็ การตลาดแบบ E-marketing และ Social Network Marketing นี่ล่ะครับ
Technological Innovation ก็หมายถึงนวัตกรรมทางเทคโนโลยีนั่นเองครับ ตรงๆ ตัว แต่อาจจะหมายถึงสินค้าเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ก็ได้ทั้งนั้น
Architecherial Innovation หมายถึง นวัตกรรมทางโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างองค์กร โครงสร้างการผลิต ก็แล้วแต่เอาไปใช้ในบริบทไหน
Financial Innovation อันนี้หมายถึง นวัตกรรมทางการเงิน ก็เช่นสัญญาอนุพันธ์ หรือบัตรเครดิตรูปแบบใหม่ๆ ก็ถือเป็นนวัตกรรมทางการเงินชนิดนึง อย่าไปสับสนกับคำว่า Financing of Innovation นะครับ เพราะอันนั้นจะหมายถึง บริการทางการเงินสำหรับการพัฒนานวัตกรรม เช่นการให้สินเชื่อสำหรับนวัตกรรม
Open Innovation หมายถึงนวัตกรรมแบบเปิด ใครคุ้นกับคำว่า Open Source คงเข้าใจง่าย Open Innovation ก็เหมือนกันเลยครับ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในการพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน เหมือนการ share code ใน Open Source บางครั้ง เราก็ใช้คำว่า Distributed Innovation หมายถึงนวัตกรรมแบบเปิดที่แบ่งกันพัฒนา อีกคำนึงที่เกี่ยวข้องกันก็คือ User Innovation หมายถึงนวัตกรรมที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้ร่วมพัฒนาด้วย
Explorative Innovation อันนี้หมายถึง นวัตกรรมที่เกิดจากการใช้ข้อมูลและความรู้ที่ค้นพบใหม่ทั้งหมด ไม่เป็นข้อมูลหรือความรู้ที่มีอยู่แต่เดิม ซึ่งจะตรงข้ามกับ Exploitative Innovation ซึ่งหมายถึงนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์จากความรู้ที่มีอยู่เดิม เอามาต่อยอด
สองคำข้างบน ก็จะมาใกล้เคียงกับอีกสองคำที่ใช้กันมาก คือ Radical Innovation และ Incremental Innovation โดย Radical Innovation หมายถึงนวัตกรรมที่แตกต่างจากนวัตกรรมเดิมอย่างสิ้นเชิง และ Incremental Innovation หมายถึงนวัตกรรมที่พัฒนาต่อยอดจากนวัตกรรมเดิม (สังเกตนะครับ Explorative Innovation และ Exploitative Innovation จะพิจารณาจาก ข้อมูล/ความรู้ ที่เอามาใช้พัฒนานวัตกรรมว่าแตกต่างจากเดิมแค่ไหน ต่างกับ Radical Innovation และ Incremental Innovation ที่จะพิจารณาจากตัวนวัตกรรมเลย ว่าแตกต่างจากนวัตกรรมมากเดิมแค่ไหน) อีกคำนึงทีมีความหมายเหมือนกับ Radical Innovation เลยก็คือ Breakthrough Innovation ครับ
คำสุดท้ายที่จะพูดถึง ก็คือคำว่า Disruptive Innovation ที่เป็นที่มาของชื่อ Blog นี้ด้วย Disruptive Innovation มีความหมายคล้ายกับ Radical Innovation ครับ คือหมายถึงนวัตกรรมที่แตกต่างจากเดิมอย่างชัดเจน แต่ข้อแตกต่างของ Disruptive Innovation จาก Radical Innovation คือ ในกรณี Disruptive Innovation นั้น จะต้องหมายถึงนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จในการทำลายตลาดของสินค้าเดิมด้วย (ในกรณี Radical Innovation ไม่จำเป็นต้องแย่งตลาดมาได้) เรื่อง Disruptive Innovation ยังมีเรื่องให้พูดถึงอีกเยอะครับ ไว้โอกาสหน้าจะมาเล่าให้ฟังครับ
หวังว่าจะมีประโยชน์กับใครสนใจนวัตกรรมไม่มากก็น้อยนะครับ ถ้าขาดตกคำไหน ไม่เข้าใจตรงไหน สอบถามกันมาได้ครับ
หมายเหตุ: บทความนี้โพสต์ครั้งแรกที่ DisrupZable และ Blog คุณของคุณ Chinawut ขออนุญาตเผยแพร่เป็นวิทยาทานใน Blog นี้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น